เรื่องของบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance นั้น เคยมีการพูดถึงกันมากและมีการรณรงค์กันมาพอสมควร ขนาดนายกรัฐมนตรีลงมาเป็นประธานคณะกรรมการระดับชาติเอง แต่ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องนี้กำลังแผ่วลงไป เหตุผลคงเป็นเพราะตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก หุ้นวิ่งกันอุตลุตไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลดีหรือหุ้นที่ไม่ค่อยจะมีบรรษัทภิบาลเท่าใดนัก
ว่าที่จริงหุ้นที่วิ่งมากในช่วงนี้กลับเป็นหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหาทางด้านบรรษัทภิบาล เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการที่มีปัญหาทางการเงินนั้น มีการปรับตัวขึ้นไปสูงมาก เพราะฉะนั้นข้อโต้เถียงที่ว่าบรรษัทภิบาลที่ดีจะทำให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้นสำหรับตลาดหุ้นไทยแล้วน่าจะมีน้ำหนักน้อย
คนที่อยู่ในวงการหุ้นที่สนใจเรื่องบรรษัทภิบาลจริง ๆ ผมก็คิดว่ายังมีน้อย บางคนดูว่าเรื่องบรรษัทภิบาลเป็นเรื่องของหน้าตามากกว่าเป็นเรื่องของเนื้อหาสาระที่จะมีผลต่อผลการดำเนินงานของกิจการหรือราคาหุ้น พูดง่าย ๆ เรื่องบรรษัทภิบาลเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์
นักวิเคราะห์หุ้นที่แนะนำการซื้อขายหุ้นโดยทั่วไปก็ดูเหมือนว่าจะไม่เคยนำองค์ประกอบเรื่องบรรษัทภิบาลเข้ามาคิดในการคำนวณหาราคาหุ้นที่เหมาะสม บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องบรรษัทภิบาลเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน พูดอะไรไม่ดีอาจจะถูกฟ้องร้องหรือถูกต่อต้านได้ แต่เหตุผลที่หนักแน่นกว่าอาจจะมาจากกรอบความคิดที่ว่าเรื่องบรรษัทภิบาลน่าจะเป็นเรื่องที่จะมีผลในระยะยาว ซึ่งนักวิเคราะห์ไม่ใคร่ได้สนใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นบริษัทจะมีบรรษัทภิบาลมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้เกี่ยวกับราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม และไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนักเล่นหุ้นก็ไม่สนใจอยู่แล้ว เห็นได้จากหุ้นจำนวนมากที่มีบรรษัทภิบาลต่ำแต่กลับเป็นหุ้นยอดนิยมที่คนเล่นกันมาก
Value Investor มองเรื่องของบรรษัทภิบาลแตกต่างจากคนอื่น คือมองว่าบรรษัทภิบาลเป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งในการพิจารณาลงทุนในหุ้น ว่าที่จริงความเสี่ยงในการลงทุนที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือเรื่องของบรรษัทภิบาล เพราะฉะนั้นบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลต่ำ เวลา Value Investor จะลงทุนซื้อหุ้นก็จะต้องเผื่อ Margin of Safety สูง หรือพูดง่าย ๆ ถ้าไม่ค่อยไว้วางใจผู้บริหารก็จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าพื้นฐานมาก ๆ เพื่อความปลอดภัยในการลงทุน
คำถามก็คือจะดูได้อย่างไรว่าบริษัทมีบรรษัทภิบาลที่ดี ถ้าบริษัทไม่ได้ไปทำการจัดอันดับหรือได้รับการจัดอันดับจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ การวิเคราะห์เรื่องบรรษัทภิบาลดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับบุคคลภายนอก แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ หลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจว่าเวลาพูดถึงบรรษัทภิบาล เขาพูดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง
ถ้าถาม “ผู้เชี่ยวชาญ” ก็จะพบว่าการวิเคราะห์บรรษัทภิบาลเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก จะต้องเจาะลึกเข้าไปภายในบริษัทและต้องสัมภาษณ์ผู้บริหารอย่างเข้มข้น เฉพาะรายการคำถามก็ยาวหลายหน้าแล้ว ถ้าอย่างนั้น Value Investor จะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะวิเคราะห์บรรษัทภิบาลของบริษัทที่ตนเองจะลงทุน?
คำตอบของผมอยู่ที่นิยามของคำว่า Good Corporate Governance หรือแปลให้เข้าใจง่ายก็คือ การจัดการหรือการบริหารกิจการบริษัทมหาชนที่ดี ซึ่งในความเห็นของผมควรจะมองใน 3 เรื่องใหญ่ ๆ ก็คือ หนึ่ง การบริหารกิจการให้ได้กำไรที่ดีมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ สองคือการจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน และสามคือการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง โปร่งใส และทันเวลา
ในความเห็นของผมบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ควรจะเป็นบริษัทที่ทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราเฉลี่ยสูงกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผู้บริหารจะต้องเป็นคนที่มีเหตุผลและพิจารณาลงทุนเฉพาะในโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนเงินทุนของบริษัท เพราะนี่จะทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มขึ้น และสุดท้ายจะต้องดูแลให้ความเสี่ยงของกิจการอยู่ในระดับต่ำ เฉพาะอย่างยิ่งกิจการไม่ควรจะมีหนี้สินมากเกินไป
เรื่องของผลการดำเนินงานนี้ นอกจากเรื่องของกำไรซึ่งเป็นบันทัดสุดท้ายแล้ว บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีควรจะมี “ไส้ใน” หรือรายการต่าง ๆ เช่น ยอดขาย ต้นทุนขายและอื่น ๆ ที่ดีด้วยซึ่งจะเป็นการยืนยันว่ากำไรนั้นเป็น “ของจริง” ที่เกิดจากธุรกิจหลัก
เรื่องของผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้น บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีควรจะมีนโยบายการจ่ายปันผลที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการเงินทุนในการขยายงานของกิจการ บริษัทไม่ควรเก็บเงินสดเอาไว้มากมายโดยไม่มีเป้าหมายในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างชัดเจน เช่นเดียวกัน การกู้เงินมากขึ้นเพื่อมาจ่ายปันผลก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
กิจการที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีไม่ควรมีรายการเกี่ยวโยงกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ถ้าไม่จำเป็น เพราะคงเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดความยุติธรรมกับบริษัท ตัวอย่างของรายการเกี่ยวโยงที่ฟ้องว่าบริษัทอาจมีปัญหาเรื่องบรรษัทภิบาลก็เช่น การซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างจากผู้ถือหุ้นใหญ่โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน การให้เงินกู้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่โดยที่ความสามารถในการชำระคืนเป็นที่น่าสงสัย หรือการที่บริษัทแต่งตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของตน ทั้งหลายเหล่านี้ ถ้ามีก็อาจจะถือเป็นสัญญาณที่ Value Investor ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
สุดท้ายก็คือ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนที่เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องของงบการเงิน ซึ่งบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีจะต้องมีงบการเงินที่สะอาดได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีอย่างไม่มีเงื่อนไข สังเกตได้จากหน้าแรกของงบการเงินที่จะต้องสั้นมากไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ ยิ่งบริษัทไหนผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตหรือคำอธิบายมากเท่าใดก็อาจเป็นเครื่องแสดงว่าบัญชีมีปัญหามากขึ้นเท่านั้น
บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดีควรจะแสดงรายละเอียดผลการดำเนินของกิจการในหนังสือรายงานประจำปี เฉพาะอย่างยิ่งก็คือการแยกแยะผลการดำเนินของแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน รวมถึงการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่ที่เป็นการขยายงานแยกต่างหากจากการบำรุงรักษาประจำปี
เรื่องสุดท้ายของการเปิดเผยข้อมูลนั้นผมคิดว่าบริษัทควรจะมีความจริงใจกับผู้ถือหุ้นในการเปิดเผยข่าวร้ายเช่นเดียวกับข่าวดีที่มักจะเปิดเผยกันอย่างรวดเร็วและในสื่อที่กว้างขวางขณะเดียวกันข่าวร้ายมักจะเปิดเผยเมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแล้วและการเปิดเผยมักอยู่ในสื่อที่คนติดตามน้อย
ทั้งหมดนั้นเป็นวิธีดูเบื้องต้นว่าบริษัทน่าจะมีบรรษัทภิบาลที่ดีหรือไม่ พฤติกรรมหรือข้อมูลที่เห็นภายนอกคงไม่สามารถบอกได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะทำให้สามารถคาดเดาหรือประมาณการได้พอสมควร Value Investor รู้ว่าการวิเคราะห์ทุกอย่างไม่มีอะไรสมบูรณ์ดังนั้นการกำหนด Margin of Safety จึงเป็นหลักสำคัญและเป็นศิลปที่จะต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ในการลงทุน
บทความในthaiVIหน้าที่ 33
บทความหลัก
Monday, April 27, 2009
บรรษัทภิบาลฉบับ Value Investor
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment