Thursday, August 20, 2009

IPO

หุ้นจองหรือหุ้นที่บริษัทออกขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น ส่วนใหญ่มักจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นคึกคัก เหตุผลก็คงเป็นเพราะหุ้นเหล่านี้เมื่อเข้าซื้อขาย ในตลาดในวันแรกมักจะทำกำไรให้กับคนจองได้เป็นกอบเป็นกำทั้งที่ลงทุนไปเพียงไม่กี่วัน

แน่นอน หุ้นจองบางตัวก็ทำให้นักลงทุนผิดหวังเหมือนกัน โดยแทนที่จะทำกำไร กลับขาดทุน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยและมักเกิดขึ้นในวันที่ตลาดหุ้นไม่ใคร่ดีนัก แต่โดยทั่วไปก็มักจะไม่ขาดทุน หลาย ๆ ตัวทำกำไรให้กับคนจองหลายสิบเปอร์เซ็นต์จนกระทั่งทำให้คนจองหุ้นรู้สึกว่า หุ้นจองที่จะถือว่าประสบความสำเร็จจะต้องมีกำไรอย่างน้อย 30-40% จากราคาจองในวันแรก และหุ้นจองที่มีราคาขึ้นไปเพียง 10-15% นั้น ถือว่า “น่าผิดหวัง”


แต่นั่นเป็นเรื่องของราคาหุ้นจองในวันแรกของการซื้อขายในตลาด หลังจากวันแรกแล้ว การซื้อขายหุ้นจองจำนวนมากมักจะค่อย ๆ เหงาลง ราคาหุ้นก็มักจะค่อย ๆ ถอยลง โดยเฉพาะหุ้นที่ไม่มีความโดดเด่นอะไรนักและอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “ไม่น่าสนใจ” ในสายตาของนักลงทุน หุ้นหลาย ๆ ตัวมีราคาต่ำกว่าราคาจอง


การที่หุ้นจองได้รับความสนใจสูงมากในวันแรก ๆ ของการซื้อขาย และทำให้ราคาวิ่งขึ้นสูงกว่าราคาจองมากนั้น ผมคิดว่าคงเกิดจากสองส่วนนั่นคือ ส่วนแรกเป็นเรื่องของการเก็งกำไรของนักลงทุน โดยเฉพาะที่มีหุ้นจองอยู่ในมือและเหล่านักลงทุน “ขาใหญ่” ที่เห็นโอกาสในการทำกำไรอย่างรวดเร็วจากหุ้น “หน้าใหม่” ที่ยังไม่มีใครรู้ “พฤติกรรม” ของการซื้อขายและราคาหุ้น


อีกส่วนหนึ่ง ถ้ามี ก็น่าจะมาจากเจ้าของหรือคนที่ได้รับการมอบหมายให้ช่วย “ดูแล” หุ้น นั่นคือ คอยซื้อหรือขายเพื่อให้ราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ต้องการ ซึ่งแน่นอน มักจะสูงกว่าราคาจอง และหลาย ๆ ครั้งอาจจะสูงมากกว่าจนไม่น่าเชื่อ การ “ดูแล” หุ้นนี้ ส่วนใหญ่ก็จะต้องมี “ต้นทุน” คือต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเข้ามาซื้อหุ้นเก็บเอาไว้เพื่อ “หนุน” ราคา


“ต้นทุน” การดูแลหุ้นนั้น ในแง่ของเจ้าของก็เป็นเพียงต้นทุนอีกอย่างหนึ่งในต้นทุนหลาย ๆ อย่างของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรวมไปถึงต้นทุนการจ้างที่ปรึกษา การรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น การจัดทำข้อมูลและระบบบัญชีที่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญที่สุดก็คือต้นทุนทางด้านภาษีซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมหาศาลเมื่อกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนซึ่งจะต้องรายงานกำไรตามที่เป็นจริงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างที่อาจจะเคยทำในช่วงเป็นบริษัทเอกชน


การดูแลหุ้นในช่วงแรก ๆ อาจช่วยให้ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในระดับสูง และทำให้มูลค่าหุ้นทั้งหมดที่อยู่ในมือของเจ้าของมีค่าสูงขึ้นคุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไป นอกจากนั้น การที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงในวันแรกให้ภาพของความ “สำเร็จ” แก่บริษัท นักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาจองซื้อหุ้นก็ได้กำไรและมีความสุข ไม่มีใครมาด่าว่าเจ้าของ สรุปว่า ถ้าหุ้นขึ้นไปสูงเกินกว่าราคาจองมากเท่าไร ความสุขของเจ้าของหุ้นก็มีมากขึ้นเท่านั้น เรียกว่าได้ทั้ง “เงิน” และ “กล่อง”


ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของการซื้อขายเก็งกำไร แต่ถ้าถามว่าในแง่ของการลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment แล้ว หุ้นจองหรือหุ้น IPO น่าลงทุนไหม? คำตอบของผมก็คือ หุ้นจอง 10 ตัว นั้น อาจจะมีเพียง 1-2 ตัวที่มีคุณค่าคุ้มกับราคาจอง ที่เหลือนั้น ผมคิดว่ามีราคาแพงเกินไป


เริ่มตั้งแต่มูลเหตุจูงใจของคนที่เอาบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น เหตุผลใหญ่ข้อหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ เขาต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการ และเขาเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่ามูลค่ากิจการของเขาเป็นเท่าไร เพราะฉะนั้น ถ้าเอาบริษัทเข้าตลาดแล้วมูลค่าลดลง เขาจะเอาเข้าไปทำไม ดังนั้น ราคาหุ้นที่เข้าตลาดจึงต้องสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากพอจึงจะกระตุ้นให้เขาเอาบริษัทเข้าตลาดได้


ในการตั้งราคาหุ้นจองนั้น ที่ปรึกษาการเงินมักจะตั้งราคาโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ มักจะตั้งราคาโดยใช้ค่า PE ของบริษัทใกล้เคียงกับค่า PE ของอุตสาหกรรม เช่น กำหนดให้ค่า PE เท่ากับ 12 เท่า ดังนั้นบริษัทมีกำไรหุ้นละ 2 บาท จึงตั้งราคาหุ้นจองไว้ที่ 24 บาท แม้ว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัทจะเท่ากับเพียง 4 บาท หรือคิดเป็นค่า PB ถึง 6 เท่า


จุดอ่อนของการตั้งราคาที่มักไม่ค่อยมีการพูดถึงก็คือ กำไรของบริษัทที่ 2 บาทต่อหุ้นนั้นไม่ใช่กำไรที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มักเป็นกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คือกำไรตอนสิ้นปี ในขณะที่ PE ของอุตสาหกรรมที่เอามาใช้นั้น เป็นกำไรของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าจะเปรียบให้เหมือนกันก็ควรใช้กำไรในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่าราคาหุ้นจองควรจะต้องลดลงมาสัก 10% จึงจะถูกต้อง

ีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมคิดว่าการตั้งราคาหุ้น IPO สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นก็คือ กำไรของบริษัทที่นำมาใช้คำนวณนั้น อาจจะยังไม่มีความแน่นอน และบ่อยครั้งมักจะเกิดจากการ “แต่งตัว” นั่นก็คือไม่ใช่กำไรตามปกติของบริษัท แต่เป็นกำไรที่เกิดจากการ “เร่งรายได้” และ “เลื่อนค่าใช้จ่าย” เพื่อแสดงตัวเลขกำไรที่ดูดีกว่าปกติในช่วงเวลาที่จะขายหุ้นจอง และกำไรที่ดูดีนี้จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ข้อดังกล่าว Value Investor ที่มุ่งมั่นส่วนใหญ่จึงมองหุ้น IPO ในแง่ของการเป็นหุ้นเก็งกำไรมากกว่าที่จะเป็นหุ้น Value และคิดว่าหากจะลงทุนในหุ้นที่เข้าตลาดใหม่ ๆ ก็คงจะต้องรอให้คนเลิกเล่น หมดความสนใจในหุ้นตัวนั้น และราคาต่ำกว่าราคาจองมาก ๆ เท่านั้น เพราะราคาจองและราคาหุ้นในวันแรก ๆ ของการซื้อขายหุ้นนั้นคงจะเป็นอย่างที่ฝรั่งบางคนช่วยแปลคำว่า IPO นั่นก็คือ It’s probably overpriced ราคาหุ้นคงจะสูงเกินพื้นฐานที่ควรจะเป็น

คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI

อ่านต่อ...

หาหุ้นดี มีปันผล สำหรับคนลงทุนยาว

“บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ก็มักจะสะท้อนอยู่ในความสามารถของผู้บริหารที่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะแม้แต่เรื่องการเลือกสรรหาผู้บริหารระดับสูง หรือการพิจารณาผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการ ก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของการกำกับและดูแลกิจการที่ดีเหมือนกัน

ในช่วงเวลาที่หุ้นขึ้นๆลงๆ แกว่งไปแกว่งมานั้น วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างวินัยการลงทุน ก็คือ พยายามถือหุ้นส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาว ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง เราก็ขายออกไป ถ้าเห็นว่าภาวะตลาด (Market Sentitment) ไม่ดี หรือซื้อเพิ่มเข้ามาถ้าเห็นว่ากระแสกำลังมาแรง โดยส่วนที่เราถือไว้ระยะยาวนั้น อาจจะเรียกได้ว่า เป็นหุ้นที่เราเก็บไว้เป็นหลัก ถ้าตามภาษาการบริหารลงทุน ก็ต้องเรียกว่าเป็น Core Holding คือไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง ก็ควรจะมีหุ้นพวกนี้ไว้ประจำพอร์ต ลองมาดูกันครับว่า ถ้าจะหาหุ้นดีสำหรับการลงทุนในระยะยาว (ความหมายการลงทุนทั่วๆไปอยู่ที่ ประมาณ 1-2 ปี) ควรจะดูที่อะไรบ้าง

เรื่องแรก เวลาเราไปลงทุน นอกเหนือจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจาก Capital Gain หรือราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว เรายังหวังที่จะได้รับเงินปันผล ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลตอบแทนจากผลประกอบการ หรือกำไรของบริษัทโดยตรง ซึ่งดูได้จาก อัตราผลตอบแทนของเงินปันผล (Dividend Yield) ที่คำนวณได้ง่ายๆ โดยเอาเงินปันผลที่บริษัทจ่าย หารด้วยราคาหุ้น

เช่น บริษัทที่เราเข้าซื้อหุ้นมาในราคา 50 บาท จ่ายเงินปันผล 2.50 บาท ก็จะคำนวณได้ Dividend Yield เท่ากับ 2.50/50 = 5% อัตราผลตอบแทนนี้ก็ไปดูเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น หรือเงินฝากก็ได้ว่า ได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และสูงกว่าต่ำกว่าอย่างไร ปกติโดยทั่วไป บริษัทมักจะจ่ายเงินปันผลปีละหนึ่งครั้ง ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม หลังจากที่มีการประกาศผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว และในบางบริษัทก็อาจจะมีการจ่ายเงินปันผลกลางปี หรือรายไตรมาสเพิ่มเข้ามา

ส่วนที่สองก็คือ ดูอัตราการจ่ายเงินปันผล เพื่อดูว่าบริษัทที่เราเข้าไปลงทุนนั้น มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างไร ตรงนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Payout Ratio คือบริษัททุกๆปี พอได้กำไรมา ถ้าไม่เอาไปสำรองตามกฎหมายหรือเก็บไว้ เผื่อการขยายธุรกิจในอนาคตแล้ว ก็มักจะจ่ายคืนมาให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทไทยส่วนใหญ่มักจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ประมาณ 50% ของกำไรสุทธิ แปลง่ายๆ ก็เก็บไว้ทำธุรกิจต่อซักครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็คืนเป็นผลตอบแทนให้เจ้าของบริษัท อัตราการจ่ายเงินปันผลนี้ ตัวเลขยิ่งสูงก็ยิ่งดี โดยเฉพาะในบางบริษัทที่ธุรกิจค่อนข้างนิ่ง อยู่ตัว มีกำไรสม่ำเสมอ ก็สามารถจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ค่อนข้างสูงได้ แต่ก็มีเหมือนกันนะครับ ที่บางบริษัทไม่ค่อยยอมจ่ายเงินปันผล อันนี้ก็ต้องไปวิเคราะห์เจาะลึกต่อว่า เค๊าเก็บเงินไว้ทำอะไร ถ้าเก็บไว้ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ก็สู้จ่ายออกมาให้เราที่เป็นผู้ถือหุ้นไปเลือกลงทุนเองยังจะดีกว่า ยกเว้นก็แต่ในบางบริษัทที่อาจจะอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตมาก มีแผนการขยายธุรกิจและการลงทุนสูง ก็อาจจะเก็บกำไรไว้มากหน่อย ก็จะทำให้ Payout ratio น้อยลง

ส่วนที่สาม แน่นอนครับ เราวางเป้าเลือกหุ้นที่จะลงทุนระยะยาวและถืออยู่เป็นหลัก นอกจากต้องการเงินปันผลแล้ว เรายังต้องการเห็นราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลานานๆด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมองหาหุ้นที่มีความสามารถในการเติบโตในระยะยาว (Sustainable long-term growth) ในประเทศไทยเรา ยังไม่ค่อยคุ้นกับการซื้อหุ้นเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ส่วนใหญ่ยังมองถึงการลงทุนชั่วลูกชั่วหลานเป็นเรื่องของบ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เสียมากกว่า

ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เรื่องการลงทุนครอบคลุมไปทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องหุ้นเป็นเรื่องธรรมดามากครับ เพราะผลตอบแทนที่ดีที่สุดในระยะยาว ยังคงเป็นการลงทุนในหุ้น ผมจำได้ว่า เคยอ่านข่าวเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ว่ามีหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าได้เคยมีผู้ใจบุญบริจาคหุ้น (ของบริษัทซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงงานแห่งหนึ่ง) ให้แก่บ้านพักคนชราเพื่อเป็นมรดกให้หาประโยชน์ในภายภาคหน้า ปรากฏว่าเวลาผ่านไปหลายสิบปี บริษัทนั้นได้เติบโตขึ้นกลายเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ คือ โนเกีย นั่นเอง และมูลค่ามรดกที่ทิ้งไว้กลับกลายเป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่สามารถนำมาพัฒนาสวัสดิการต่างๆในหมู่บ้านได้อย่างหาค่าไม่ได้

ส่วนที่สี่ เป็นเรื่องของการแข่งขันของบริษัท คือ Competitive edges ว่าบริษัทที่น่าลงทุนในระยะยาวนั้น จะต้องเป็นบริษัทที่นอกจากในข้อที่สาม ที่บอกว่ามีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาวแล้ว ความสามารถในการแข่งขันก็ต้องยั่งยืนด้วย ก็เราเป็นนักลงทุนระยะยาวนี่ครับ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมั่นใจด้วยว่า หุ้นที่เราเข้าไปซื้อนั้น ในวันข้างหน้ายังคงดูดีเหมือนตอนปัจจุบัน จุดเด่นของบริษัทยังสามารถเป็นจุดขายได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นบริษัทขายสินค้า ก็ต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่จะรักษาภาพลักษณ์ของสินค้าให้ยั่งยืน หรือถ้าเป็นพวกโรงงานหรือผู้ผลิตก็อาจมองถึงทรัพยากร เคล็ดลับกระบวนการผลิตที่ไม่มีใครมาลอกเลียนแบบได้ เป็นต้น

ส่วนที่ห้า คือ ผู้ที่ทำให้ผู้ถือหุ้นวางใจในการนำบริษัทไปสู่ความสำเร็จ คือ ผู้บริหารนั่นเองครับ ถ้าเป็นธุรกิจที่เจ้าของสร้างมากับมือ เราที่เป็นผู้ไปร่วมถือหุ้น ก็ต้องมั่นใจได้ว่า เจ้าของหรือเถ้าแก่มีความสามารถในการบริหาร และที่สำคัญมีความสามารถในการถ่ายทอด การนำองค์กรให้แก่ลูกหลานต่อไปในอนาคตได้ หรือถ้าเราไปดูบริษัทใหญ่ๆระดับโลกหลายๆแห่ง ก็จะเห็นได้ว่า พอไปถึงรุ่นที่สามรุ่นที่สี่ ก็มีเหมือนกันที่ เจ้าของบริษัทเดิม หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ แทนที่เอาลูกหลานมาเป็นผู้บริหารระดับสูง กลับกลายเป็นไปเสาะหาผู้บริหารมืออาชีพที่มีฝีมือฉมังมาเป็นซีอีโอแทน แล้วบรรดาลูกหลานเจ้าของเดิม ก็ไปนั่งในระดับกรรมการเพื่อดูเรื่องนโยบายในภาพใหญ่แทนการไปรับผิดชอบทำธุรกิจเป็นงานประจำ สำหรับเราที่เป็นนักลงทุน ผมว่าใครก็ได้ ขอให้มั่นใจว่าทำธุรกิจเป็น และสามารถบริหารบริษัทให้มีผลกำไรดีทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ก็พอใจแล้วครับ

ส่วนสุดท้าย ตามธรรมเนียมยุคนี้ คือเรื่องของการกำกับและดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เป็นเรื่องที่สำคัญว่าบริษัทที่เราลงทุนทำทุกอย่างอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น (ซึ่งคือเรานั่นเอง) จริงๆแล้ว บริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี ก็มักจะสะท้อนอยู่ในความสามารถของผู้บริหารที่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพราะแม้แต่เรื่องการเลือกสรรหาผู้บริหารระดับสูง หรือการพิจารณาผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการ ก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของการกำกับและดูแลกิจการที่ดีเหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของการสร้างความโปร่งใสและมั่นใจได้ว่า ได้คนดีมีฝีมือมาสร้างธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน

ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่า ที่คุยมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของการลงทุนในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เวลาที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากๆแล้ว จะขายไม่ได้ ดีเสียอีกถ้าสมมติว่า ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก จนถึงเป้าหมายของการสร้างผลกำไรจากการลงทุนในหุ้นนั้นๆ ก็ขายทำกำไรออกไป ถือว่าประหยัดเวลา ในการลงทุนอีกต่างหาก แต่อย่าลืมว่า ถ้าศึกษาบริษัทนั้นมาดีแล้ว เชื่อว่า ต่อไปยังจะดีแน่ๆ ก็รอโอกาสที่ราคาปรับตัวลงมาในระดับที่เหมาะสมแล้วก็กลับเข้าไปลงทุนใหม่ส่วนที่ขายออกไปก่อนรอบหนึ่งก็ถือว่าเป็นโบนัสก้อนโตของการลงทุนครับ

คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI

อ่านต่อ...

12 lessons of Alan Greenspan

Alan Greenspan ประธานธนาคารชาติหรือธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ the Federal Reserve of U.S.A. เคยเรียนดนตรีที่ Juliord School จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (Bachelor of Science) ด้านเศรษฐศาสตร์เกียรตินิยม (summa cum laude) ปี พ.ศ. 2491 (1948) หรือเมื่อ 56 ปีมาแล้ว และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ซึ่งเขาได้พบและเป็นเพื่อนที่ดีกับ Arthur Burns ประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ และต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งประธาน Federal Reserve ช่วงปี 1970-1978 Alan Greenspan ยกเลิกการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก (Ph.D) เนื่องมาจากปัญหาทางการเงินและประสงค์ที่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาชีพ (Professional Economist) หลังจากที่ได้ร่วมงานวิเคราะห์และจัดทำหนังสือกับกลุ่มนักวิเคราะห์วิจัยด้านเศรษฐศาสตรฺ์ ธุรกิจและสังคมที่มีชื่อเสียงจนเป็นที่นิยมและได้นำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจที่เน้นความสำคัญในการสร้าง “ คุณธรรมของระบบนายทุน (morality of capitalism) “ เพื่อการสร้างความดีให้มากที่สุด สำหรับประชาชนจำนวนมากที่สุด (most good for most people) การตระหนักสำนึกในหน้าที่ของประชาชนแต่ละบุคคล(People Responsibility and Accountability) และการที่รัฐบาลจะต้องยึดมั่นในระบบตลาด พร้อมกับสนับสนุนบทบาทนั้นเพื่อการประกอบธุรกิจเสรี Alan Greenspan ร่วมกับนักธุรกิจค้าหลักทรัพย์พันธบัตร William Townsend จัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำเพื่อการวิจัยและการจัดทำประมาณการทางเศรษฐกิจให้กับลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการวางแผนทางธุรกิจ รวมทั้งบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 บริษัทด้วย แต่ก็ได้ล้มเลิกกิจการไปเมื่อได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตมาปฏิบัติงานที่ Federal Reserve เมื่อปี 1987 Alan Greenspan เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เป็นผู้ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้โดยสำเร็จอย่างไม่มีที่ติ และไม่เคยสั่นคลอนเลยในฐานะเป็นผู้คาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีระดับฝีมือยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา


โดยสรุปแล้ว Greenspan เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ใช้แนวทางที่ขนานนามได้ว่าเป็น “The Greenspan Way of Monetarism” ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกามีการเจริญเติบโตติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยประสบมา และประวัติศาสตร์ของประเทศนี้จะเคยบันทึกไว้ ประชาชนจำนวนมากกว่าที่เคยเป็นมา ได้มีงานทำ ประชาชนจำนวนมากกว่าที่เคยพบมาได้เป็นเจ้าของบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และบริษัทหรือวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมากกว่าที่เคยมีมาได้รับผลกำไรและเจริญเติบโตมากกว่าที่เคยเห็นมาในประวัติศาสตร์ที่เคยจารึกในสหรัฐอเมริกา อะไรทำให้ Alan Greenspan ประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดนี้ Alan Greenspan ประสบความสำเร็จเพราะไม่เคยเลยที่จะลังเลหรือโอนเอียงวอกแวกไปจากความเชื่อถือที่ตนเองมีอยู่ใต้บทเรียน สรุปได้ 12 บทเรียน ดังนี้


บทที่ 1 เรียนรู้ทุกอย่างเท่าที่จะสามารถ เก็บสะสมข้อมูลทุกเรื่อง ย่อยประมวลตัวเลขที่จำเป็นทุกตัวเลขที่จำเป็นทุกตัว ทั้งที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วก่อนที่จะออกประมาณการณ์หรือคาดคะเนใดๆในทางการเงิน แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องยอมรับและเข้าใจเป็นอย่างดีว่าไม่มีผู้ใดสามารถทำนายอนาคตได้ เมื่อมีเรื่องของคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากพฤติกรรมมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือเรื่องของคนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ (people are unpredictable) ในกรณีที่ท่านผิด หรือบกพร่องอะไรท่านจะต้องแก้ไขความผิดของท่านแล้วปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (If you ‘re wrong ,correct your mistake and move on)


บทที่ 2 กังวลล่วงหน้าเอาไว้ก่อน (worry early) โดยไม่ประมาท แต่ไม่ใช่กังวลจนประสาทเสีย เพราะเมื่อท่านเริ่มเห็นสัญญาณของปัญหา เช่น เงินเฟ้อเกิดขึ้นมา ในตอนนั้นอาจสายเกินกว่าที่จะป้องกันได้เสียแล้ว


บทที่3ภาวะเงินเฟ้อหรือระดับราคาปราศจากเสถียรภาพและความไม่แน่นอนในรูปแบบใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างแท้จริงในระบบเศรษฐกิจเพราะสภาวะเช่นนี้ทำให้ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะรับกับความเสี่ยงได้ (unwilling to take risks) ซึ่งความเสี่ยงนั้นแท้จริงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยงให้ชาญฉลาดเท่านั้น


บทที่4 จงยอมรับกับความยากลำบากในระยะสั้นหากมันจะสามารถนำมาซึ่งผลตอบแทนในระยะยาว ดังนั้นผลจากการตัดสินใจของเราย่อมจะไม่เป็นที่นิยมเสมอไปเป็นธรรมชาติปกติธรรมดา


บทที่ 5 หนี้เป็นสิ่งที่เลวร้าย ฉะนั้นจึงต้องจ่ายชำระมันไปให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้


บทที่ 6 แสดงความคิดเห็นของท่านต่อไปในหลายรูปแบบและหลายวิธีการเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกระทั่งบุคคลที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั้งหลายมีความเข้าใจในที่สุด และสามารถปฏิบัติได้ตามที่ท่านได้บอกกล่าวเขาและเธอเหล่านั้น


บทที่ 7 จงรู้จักและยอมรับผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจของท่านด้วยความเข้าใจเป็นอย่างดี และรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากท่านไม่ได้ตัดสินใจในสิ่งนั้น จงพิจารณากรณีที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้และจะต้องรู้วิธีการว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกรณีนั้นด้วย


บทที่ 8 ท่านไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงได้ และในความเป็นจริงแล้วท่านไม่จำเป็นต้องกำจัดมัน แต่ควรจะบรรเทาผลกระทบมันได้ และยอมรับว่าความเสี่ยงเหล่านั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องผนวกเข้าไปในกระบวนการทำการตัดสินใจของท่าน (decision making process)


บทที่ 9 วงจรธุรกิจซึ่งมีทั้งขึ้นและลงเป็นธรรมชาติแห่งความเป็นจริง ทางที่ดีที่สุดเราสามารถทำได้ คือพยายามทำให้ภาวะที่ขึ้นและลงไม่เกินเลยไป (too extreme) จงพยายามใช้สายตารวมแสงไปยังภาพที่ใหญ่กว่าแม้ว่าจะเกิดการถดถอยในระยะสั้น


บทที่ 10 เป็นที่แน่นอนเสมอมาและเสมอไปว่า การสร้างเงื่อนไขย่อมจะเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี จึงต้องสร้างให้มีความยืดหยุ่น ต้องทำให้มีความเข้าใจและต้องปรับปรุงให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวของท่าน แต่ยังคงสามารถคงอยู่กับความเป็นจริงในความเชื่อถือที่มั่นคงและสำคัญของท่านตลอดไป


บทที่ 11 ระบบตลาดที่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีเป็นระบบตลาดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ฉะนั้นการก้าวก่ายของภาครัฐบาลควรจะต้องเก็บสำรองไว้ใช้เฉพาะเกิดวิกฤติการณ์เท่านั้น (Government intervention should be reserved for crisis)


บทที่ 12 ในที่สุดแล้วความน่าเชื่อถือในตัวของท่านก็คือสินทรัพย์ที่มีความสำคัญ และมีคุณค่ามากที่สุด (นำติดตัวไปตอนที่ท่านตายแล้วเพื่อไปเกิดใหม่ก็ได้!)

คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI

อ่านต่อ...

พกระเบิดเวลามาด้วย

การวิเคราะห์เลือกหุ้นที่จะลงทุนนั้นจำเป็นที่จะต้องดูอย่างถี่ถ้วนและมองยาวเป็นสิบปีขึ้นไป ว่าที่จริงควรดูตลอดชีวิตโดยเฉพาะในเรื่องใหญ่ที่จะมีผลกระทบทางลบต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท

ผมเองไม่ใคร่ใส่ใจกับเรื่องที่ “อาจ” จะเกิดขึ้นหรือเป็นเรื่องที่ “คาด” ว่าจะเป็นไป เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น และถ้าหากว่าเกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็ไม่เหมือนอย่างที่คาด ผลกระทบก็ไม่แน่นอน ดังนั้นจะไปคิดทำไมให้ปวดหัว

สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดก็คือ เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นสูง และเมื่อเกิดแล้วจะมีผลกระทบรุนแรงต่อบริษัทซึ่งบ่อยครั้งก็วัดเป็นเม็ดเงินได้แน่นอน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่บริษัทรู้อยู่แล้ว หลาย ๆ เรื่องเป็นสิ่งที่บริษัททำขึ้นมาเอง เวลาที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นก็มีการกำหนดหรือรู้กันเป็นที่แน่ชัด พูดไปแล้วก็เหมือนกับระเบิดเวลาที่ตั้งเวลากันไว้เรียบร้อยแล้ว เข็มนาฬิกาเดินถึงเมื่อไรก็จะระเบิดเมื่อนั้น

แต่เรื่องทั้งหมดนี้ นักลงทุนที่ไม่รอบคอบอาจจะไม่รู้ เพราะไม่มีใครติดป้ายบอกว่าหุ้นตัวนั้นมีระเบิดเวลาติดอยู่ นักวิเคราะห์เอง บ่อยครั้งก็ไม่สนใจที่จะเตือน เพราะเวลาที่ตั้งเอาไว้ยังอีกนานกว่าจะถึง หลายคนรู้ว่ามันเป็นระเบิดเวลาแต่เป็นสิ่งที่บริษัทรับได้ หรือบางคนก็ไม่คิดหรือไม่รู้ว่ามันเป็นระเบิด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ไม่มีใครสนใจเรื่องที่ยังไม่เกิดในอีก 1-2 ไตรมาศหรือแม้แต่ในอีก 1 ปีข้างหน้า

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร Value Investor ควรจะต้องรู้และตระหนักว่าบริษัทที่ตนเองสนใจนั้นมีระเบิดเวลาติดไว้หรือไม่ และผลกระทบเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างไม่ผิดพลาด และต่อไปนี้คือระเบิดเวลาที่จะต้องระวัง

ระเบิดเวลาชุดแรกที่ผมเห็นว่ามีพลังทำลายสูง เกิดขึ้นแน่นอน และบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งในตลาดกำลังจะต้องเจอในเร็ว ๆ นี้ก็คือเรื่องภาษีนิติบุคคลหรือภาษีที่จะต้องจ่ายเมื่อบริษัทมีกำไร นี่คือบริษัทที่ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลในปัจจุบันด้วยเหตุที่ว่าบริษัทมีขาดทุนสะสมที่เกิดตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้ขาดทุนสะสมใกล้หมดแล้ว และในไม่ช้าก็จะต้องกลับมาเสียภาษี 25-30% ตามปกติ

การที่กำไรจะถูกปรับลดลงถึง 30% จากการต้องเสียภาษีนั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องรุนแรงมาก เพราะโดยเฉลี่ยถ้าสมมุติว่ากิจการเติบโตปีละประมาณ 10% ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยของตลาด บริษัทก็จะต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าที่กำไรจะกลับมาเท่าเดิม เพราะฉะนั้น ถ้าคุณซื้อหุ้นวันนี้ในราคาที่คิดว่าเหมาะสมกับพื้นฐานของกิจการ แต่ลืมไปว่าตั้งแต่ปีหน้าบริษัทจะต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล เวลาของการลงทุนอันมีค่าของคุณก็จะหายไป 3 ปี สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนเพื่อหวังการเติบโตของบริษัท นี่เป็นความเจ็บปวดที่สาหัสมาก

ระเบิดเวลาที่ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่าเรื่องของภาษีก็คือวอแรนต์ของบริษัทซึ่งออกกันมาแพร่หลายมากนับได้ถึง 70 กว่าแห่งจาก 400 กว่าแห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การที่วอแรนต์ถูกนับให้เป็นระเบิดเวลาก็เพราะว่าเมื่อวอแรนต์ถูกใช้สิทธิในอนาคตก็จะกลายเป็นหุ้นที่จะเข้ามาเฉลี่ยกำไรของบริษัท ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง และเนื่องจากวอแรนต์ที่ออกมาส่วนใหญ่จะออกกันมากคิดเป็น 25% หรือมากกว่าของหุ้นเดิมทั้งหมด เพราะฉะนั้นวันที่วอแรนต์หมดอายุและถูกใช้สิทธิ กำไรต่อหุ้นของบริษัทก็จะลดลงไปไม่น้อยกว่า 25-30% ดังนั้น ผลกระทบของระเบิดเวลาวอแรนต์จึงน่าจะรุนแรงไม่น้อยไปกว่าเรื่องของภาษีนิติบุคคล

ระเบิดเวลาอีกชุดหนึ่งที่มีผลรุนแรงแต่ระยะเวลาที่ตั้งไว้ค่อนข้างนานทำให้ผลกระทบในวันนี้อาจจะยังไม่ค่อยรู้สึกนัก และบางคนก็อาจจะมองว่าสถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปก่อนที่จะถึงเวลาระเบิดก็คือกิจการที่ได้รับสัมปทานทั้งหลาย เหตุผลก็คือ ประเทศไทยกำลังเปิดเสรีในกิจการควบคุมทั้งหลาย และสัมปทานหลาย ๆ เรื่องกำลังจะถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้ได้รับสัมปทานกำลังจะกลายเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเหมือนกับธุรกิจปกติ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดได้ว่าภาพของบริษัทจะเป็นอย่างไร

ในความรู้สึกของผม การแปรสัญญาสัมปทานต่าง ๆ ก็เหมือนกับการร่นระยะเวลาของระเบิดที่ตั้งไว้ลงมาเร็วขึ้น ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ไม่รู้ก็คือ ไดนาไมต์ที่ใส่ไว้จะถูกลดลงมามากน้อยแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และทำให้การลงทุนระยะยาวในหุ้นเหล่านี้เป็นความเสี่ยง

ระเบิดเวลาชุดที่เล็กลงมาหน่อยก็คือบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งรวมถึงโรงแรมที่เช่าที่ดิน และ/หรือ อาคารของคนอื่นในการทำธุรกิจ

เหตุที่การเช่าทรัพย์สินที่มีเวลาแน่นอนนี้เป็นระเบิดเวลาก็เพราะว่าหลาย ๆ บริษัทที่เช่านั้นได้ทำสัญญาเช่ามานานแล้วในอัตราค่าเช่าที่ต่ำมาก ทำให้กิจการมีกำไรค่อนข้างสูงจากทรัพย์สิน แต่ในวันที่หมดสัญญาเช่า ค่าเช่าก็จะถูกปรับขึ้นมาเป็นราคาตลาดซึ่งจะทำให้กำไรของบริษัทหดหายไปมาก

ระเบิดเวลาแบบอื่น ๆ ที่เจอบ่อยพอสมควรก็คือ กิจการที่ธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลจาก BOI ซึ่งจะมีระยะเวลายกเว้นภาษีแน่นอน เพราะฉะนั้นในวันที่บริษัทจะต้องจ่ายภาษีก็คือวันที่จะเกิดระเบิดและกำไรของกิจการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้นั้น อาจจะมีการติดระเบิดเวลาเอาไว้ได้หลายลูก เช่น มีการออกวอแรนต์จำนวนมากให้กับผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ หรืออาจมีการออกหุ้นกู้ที่ให้สิทธิคนถือแปลงสภาพเป็นหุ้นได้ในภายหลัง นอกจากนั้น บริษัทส่วนใหญ่ก็มีขาดทุนสะสมอยู่มากและไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลซึ่งจะกลายเป็นระเบิดเวลาเมื่อบริษัทเริ่มฟื้นตัวและมีกำไร กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เอง บ่อยครั้งเจ้าหนี้ก็ลดดอกเบี้ยให้ในช่วงแรก ๆ แต่หลังจากถึงเวลาที่กำหนด บริษัทก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยปกติซึ่งก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง ว่าไปแล้ว บริษัทที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้และกำลังฟื้นตัวและราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมากนั้น บางตัวอาจจะมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะอาจจะพ่วงระเบิดเวลามาด้วยหลายลูก

และทั้งหมดนี้ก็คือระเบิดเวลาที่ Value Investor จะต้องรู้และคิดคำนวณเผื่อเอาไว้ด้วยเวลาจะลงทุนในหุ้นที่ “พกระเบิดเวลามาด้วย”

คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI

อ่านต่อ...

ข่าวร้าย

ผมไม่ทราบว่ามีใครเคยทำวิจัยหรือไม่ว่าข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะแนวธุรกิจมีข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีมากน้อยแค่ไหน แต่ผมพนันได้ว่า “ข่าวร้าย” มีมากกว่าหลายเท่า

คำว่า “ข่าวร้าย” นั้น ในความหมายของผมก็คือ ข่าวที่คนอ่านแล้วคิดว่ามันจะมีผลที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง กำไรของธุรกิจต่าง ๆ ลดลง ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลง และหุ้นบางตัวจะมีราคาลดลง ทำให้คนรู้สึกวิตกกังวล และอาจจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อคลายความวิตกกังวลนั้น เช่น ลดการบริโภค หรือขายหุ้นทิ้ง


แต่ในความเป็นจริง “ข่าวร้าย” ที่ปรากฏนั้นอาจจะไม่เป็นจริง หรือถ้าเป็นจริงก็อาจจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ ต่อยอดขายหรือกำไรของกิจการต่าง ๆ ดังนั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจและกิจการต่าง ๆ อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจิตใจของคนรับข่าวอาจเปลี่ยนและราคาหุ้นอาจปรับตัวลงเนื่องจากปฎิกริยาของคนอ่านที่บังเอิญซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ลองมาดูสิครับว่ามันน่าเป็นอย่างนั้นไหม?

ก่อนหน้านี้เพียงปีสองปีเราวิตกกันว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด ราคาข้าวของไม่ขึ้นเลยเพราะเงินเฟ้อต่ำมาก เรากลัวว่าคนจะไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคและจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดซึ่งจะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

เดี๋ยวนี้อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มขึ้น ราคาสินค้ากำลังเริ่มปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เงินเฟ้อกำลังมา นี่เป็นข่าวร้ายที่น่าวิตกว่าจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ผมไม่รู้ว่าข่าวดอกเบี้ยลง หรือข่าวดอกเบี้ยขึ้นเป็นข่าวร้ายที่แท้จริงกันแน่ หรือทั้งสองข่าวต่างก็ไม่ใช่ข่าวร้ายทั้งคู่ รู้แต่ว่าคนอ่านข่าวโดยเฉพาะที่เป็นนักเล่นหุ้นจำนวนมากต่างก็วิตกกังวลทั้ง 2 เรื่อง เห็นได้จากการซื้อขายหุ้นมหาศาลในแต่ละวันโดยเฉพาะในวันที่มีข่าวพาดหัวตัวใหญ่และดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นลงเหมือนลูกดิ่ง

ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยากไม่แพ้กัน เพราะในช่วงเกิดวิกฤติใหม่ ๆ ที่ค่าเงินบาทอ่อนมาก คนต่างก็วิตกกันว่าเราคงต้องล้มละลายกันทั้งประเทศเพราะบริษัทต่างก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมหาศาล นี่เป็นข่าวร้ายแน่นอนในช่วงนั้น แต่พอตอนหลัง ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อย ๆ คนก็เริ่มบ่นและเริ่มวิตกกันว่าค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถส่งออกสินค้าได้เนื่องจากสินค้าของเราจะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพราะฉะนั้น ข่าวค่าเงินบาทก็สามารถเป็นข่าวร้ายได้ในทุกกรณี

บางช่วงที่ค่าเงินบาทนิ่งและอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ขยับเราก็มีข่าวร้ายเรื่องสงครามและการก่อการร้ายในต่างประเทศ ไล่ตั้งแต่สงครามในตะวันออกกลางซึ่งที่จริงเกิดขึ้นเกือบทุกวันอยู่แล้ว ไปจนถึงการถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ การโจมตีในบาหลี ยุโรป และรัสเซีย และสุดท้ายก็คือการก่อการร้ายในภาคใต้ของเราเองซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

แต่ถ้าถามว่าการก่อการร้ายกระทบอะไรกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้น คำอธิบายอาจจะมีได้เป็นสิบ ๆ หน้า แต่เกือบทั้งหมดเป็นการกระทบ “ทางอ้อม” ที่ไม่รู้ว่าจะมีผลแค่ไหน แต่สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมแล้วละก็ เขาบอกว่าน่าจะมีผลโดยตรง เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นจะดีกว่า แต่ผมก็ยังเห็นเครื่องบินมีผู้โดยสารเต็มแน่นกันทุกเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ยังคงมากันตามปกติ แม้แต่บาหลีผมก็ได้ข่าวว่าคนกลับไปอย่างเดิมแล้ว ดูที่ผลการดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวกับโรงแรมและการขนส่งก็ดูดีเป็นปกติ เพียงแต่หุ้นยังไม่ไปไหนเพราะคนอาจจะยังวิตกกับการก่อการร้ายอยู่

ข่าวร้ายที่เกี่ยวกับคนบางทีก็ยังพอคาดการณ์ได้บ้าง แต่เรื่องของธรรมชาตินั้นก็ทำให้คนช็อคได้ไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่โรคซาร์เมื่อปีสองปีก่อนซึ่งช็อคคนทั้งโลกโดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางทำธุระหรือท่องเที่ยว คนต่างกลัวกันว่านี่อาจจะเป็นหายนะของมนุษย์ถ้าควบคุมไม่ได้ และก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง และแน่นอน คนเล่นหุ้นก็ต้องทิ้งหุ้นก่อนเพื่อความปลอดภัย

เรื่องของโรคซาร์จบไปก็ตามด้วยโรคไข้หวัดนกซึ่งผลกระทบหรือเป็นข่าวร้ายน้อยกว่า แต่ก็กระทบโดยตรงกับผู้ผลิตไก่เต็ม ๆ และก็แน่นอน หุ้นในกลุ่มนี้ก็ถูกเทขายเพื่อความปลอดภัย

น้ำมันแพงดูเหมือนจะเป็นข่าวร้ายที่รุนแรงและอาจ ”ทำลายเศรษฐกิจโลก” และโดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันอย่างไทย เศรษฐกิจของประเทศจะถูกกระทบ ดุลการค้าอาจจะขาดดุล บริษัทที่ต้องใช้น้ำมันมากเช่น ซีเมนต์ การขนส่ง หรือแม้แต่ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนจะถูกกระทบอย่างหนัก โดยรวมแล้ว นี่เป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นการถือหุ้นยาวในช่วงนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

“ข่าวร้าย” ที่กระทบกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเฉพาะอย่างนั้น ยิ่งมีมากจนนับไม่ถ้วน บางเรื่องก็เป็นจริง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่นักลงทุนปริวิตกกันเกินเหตุซึ่งเป็นผลจาก “แนวโน้มเล็ก ๆ” หรือ “แฟชั่น” ที่เกิดขึ้นและมี “นักอนาคตศาสตร์” ช่วย”รับรอง” ว่าเป็นจริง

หลายปีก่อนที่วิดีโอกำลังเฟื่อง คนก็พูดกันว่าโรงภาพยนต์จะต้องเจ๊งกันหมดเพราะวิดีโอจะถูกกว่า สะดวกกว่า และมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มีใครอยากเข้าโรงหนัง

หนังสือพิมพ์ นิตยสารเองก็จะต้องเจ๊งเพราะว่าอินเตอร์เน็ทจะเข้ามาแทนที่ คนไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์เพราะสามารถอ่านได้จากคอมพิวเตอร์

เช่นเดียวกัน ธุรกิจเพลงจะตกต่ำลงเพราะวัยรุ่นหรือคนซื้อเทปเดี๋ยวนี้สามารถดาวโหลดเพลงเฉพาะที่ตนเองชอบทางอินเตอร์เน็ท เพราะฉะนั้นใครจะซื้อซีดีเพลง

คนรุ่นใหม่ดูแลรักษาสุขภาพกันมาก และนี่เป็นแนวโน้มใหญ่ เพราะฉะนั้นธุรกิจเหล้า บุหรี่ และแม้แต่น้ำอัดลมจะค่อย ๆ หดตัวลง และธุรกิจอย่างชาเขียวและน้ำผลไม้จะรุ่งเรือง เออ แต่เรื่องชีวจิตที่เคยดังระเบิดคงไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่กระมัง จึงเงียบ ๆ ไป

ไม่ว่า “ข่าวร้าย” จะเป็นจริงหรือไม่ หรือจะมีผลหรือไม่มีผล แต่ “ข่าวร้าย” ในอนาคตก็คงจะมีมากเหมือนเดิมถ้าไม่มากขึ้น นักเล่นหุ้นเองก็จะยังคงวิตกกังวลกันทุกวัน และก็ซื้อและเทขายหุ้นตามข่าวอย่างไร้เหตุผลเหมือนเดิม Value Investor ที่ดีนั้นต้องวิเคราะห์ข่าวอย่างใจเย็น ส่วนใหญ่แล้ว “ข่าวร้าย” ไม่ใช่เรื่องอันตรายที่จะต้องทำอะไร แต่มันคือโอกาสที่จะเก็บหุ้นดีที่มีราคาถูกลงมากเพราะข่าวร้ายที่ไม่ร้ายนักในระยะยาว
คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI

อ่านต่อ...

การทำใจในการลงทุน

ถ้ารักจะเป็น Value Investor แล้ว จะต้องรู้จัก “ทำใจ” ในหลาย ๆ เรื่อง ใหม่ ๆ อาจจะรู้สึกกระวนกระวายใจและอาจทำไม่สำเร็จ แต่ถ้าฝึกไปเรื่อย ๆ ก็จะทำได้เองและจะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติและผลดีก็จะตามมา ต่อไปนี้เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ผมคิดว่านักลงทุนควรจะฝึก “ทำใจ”
เรื่องแรกก็คือ อย่าตื่นเต้นหรือดีใจเกินไปเวลาหุ้นวิ่งขึ้นไปรวดเร็วและรุนแรง เช่นเดียวกับที่อย่าตกใจขวัญเสียเวลาหุ้นตกหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะทำให้เราตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นบ่อย และที่สำคัญก็คือ ผิดเวลา ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นรับประกันว่าจะทำให้เรากระเป๋าฉีกแน่นอน
ใกล้เคียงกับข้อแรกก็คือ อย่าเฝ้าจอหุ้นหรือติดตามราคาหุ้นใกล้ชิดเกินไปเพราะจะทำให้เราตาลายและสับสน เช่นเดียวกัน เราไม่ควรฟังข่าว ทั้งที่เป็นข่าวจริงหรือข่าวลือในห้องค้าเกินความจำเป็นเพราะหูจะอื้อ และเมื่อเราหูอื้อและตาลายพร้อมกันก็มีโอกาสสูงที่เราจะทำอะไรโดยไม่ได้คิดได้ง่าย ซึ่งการลงทุนที่ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับนักมวยที่เมาหมัด เดินเข้าหาคู่ต่อสู้โดยไม่ได้ป้องกันตัว
เรื่องที่ควรทำใจข้อสามก็คือ การยอมรับว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นได้ และไม่มีใครสามารถทำได้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นการลงทุนโดยอิงกับการคาดการณ์ภาวะตลาดจึงไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ การทำใจในเรื่องนี้บางทีก็เป็นเรื่องยาก เพราะเรามักจะคิด “เข้าข้างตัวเอง” ว่าเรารู้และคาดได้ถูกมากกว่าผิด เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าเวลาคาดถูก เรามักจะภูมิใจ ดีใจ และจดจำ ส่วนเวลาที่คาดผิด เรามักจะเสียใจและพยายามลืม ซึ่งทำให้สมองเราเก็บสถิติที่ผิดพลาดนึกว่าเราแน่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่


เรื่องที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจและติดตามกันมากในช่วงนี้ก็คือการซื้อหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศซึ่งซื้อติดต่อกันมาหลายเดือนนับได้เกือบแสนล้านบาทเข้าไปแล้ว แต่ผมกลับคิดว่า Value Investor ควรจะทำใจไม่ให้สนใจกับเรื่องนี้ เพราะการซื้อหุ้นสุทธิของ “ฝรั่ง” นั้น ถึงแม้ว่ามักจะทำให้ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้น แต่ปัญหาก็คือ เราไม่รู้ว่าวันไหนฝรั่งจะซื้อหรือขายมากน้อยแค่ไหน เรารู้ต่อเมื่อเขาซื้อหรือขายเรียบร้อยแล้ว เรามักจะซื้อทีหลังและขายทีหลัง ทุกครั้งที่สถาบันลงทุนชื่อดังจากต่างประเทศให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนใจตลาดหุ้นไทยและจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนนั้น เชื่อผมเถอะครับว่าเขาซื้อไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราลงทุนโดยดูการซื้อขายของเขา เราน่าจะเป็น “เหยื่อ” มากกว่าที่จะเป็นคนตกปลา
เรื่องที่ห้าสำหรับ Value Investor ที่ควรจะทำใจก็คือการลงทุนหุ้นนั้นจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไป แต่ในระยะสั้นแล้วอาจจะเลวร้ายหรือดีเยี่ยมก็ได้ แต่ไม่ว่าในกรณีใด การลงทุนในหุ้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนรวยในชั่วข้ามคืน ถ้าอยากจะรวยด้วยหุ้นแบบปลอดภัย ผมคิดว่าต้องศึกษาการลงทุนมาเป็นอย่างดีและต้องลงทุนต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไป การคิดหวังรวยทางลัดในตลาดหุ้นนั้นผมคิดว่าร้อยละ 99 ขาดทุนและเสียหายหนัก
นอกจากทำใจว่าการลงทุนหุ้นไม่สามารถจะรวยได้เร็วเหมือนการเก็งกำไรหรือการพนันอย่างอื่นแล้ว ควรทำใจว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของเราน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 10-15% โดยไม่ต้องสนใจว่าคนเล่นหุ้นหรือนักลงทุนคนอื่นจะได้กำไรมหาศาลแค่ไหนโดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ ไม่เกินปีหรือสองปี เพราะการพยายามไปเปรียบเทียบกับคนที่กำลังประสบความสำเร็จในช่วงสั้น ๆ จะทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าวิธีการของเราผิดและวิธีการของเขาถูกซึ่งอาจจะไม่ใช่
ถ้าจะให้สรุปสำหรับข้อห้าและหกก็คือ นักลงทุนควรจะทำใจให้รู้จักกับความพอใจและเพียงพอในการลงทุน ไม่โลภหวังรวยโดยการเสี่ยงหรือเก็งกำไรในสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนพอ อย่างไรก็ตาม การทำใจในเรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าผลตอบแทนของเราไม่มีทางที่จะดีเลิศได้เลย เพราะในความเป็นจริงนั้น มหัศจรรย์สามารถเกิดขึ้นได้กับพอร์ตการลงทุนที่เจ้าของยึดหลักความพอเพียง เท่า ๆ กับพอร์ตที่เน้นการลงทุนแบบหวังรวยเร็วเหมือนกัน
การทำใจที่สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งสำหรับ Value Investor ก็คือการเชื่อว่าราคาหุ้นที่เราลงทุนไว้นั้นในระยะยาวจะขึ้นหรือลงตามกำไรของกิจการ ผลตอบแทนของการลงทุนของเราจะดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุน ถ้าเราทำใจในเรื่องนี้ได้ เราก็จะไม่กระวนกระวายหรือเสียใจเวลาที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปแรงในขณะที่พอร์ตหุ้นของเราไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม เช่นเดียวกัน เราก็จะไม่เห็นเหตุผลหรือรู้สึกว่าจะต้องปรับพอร์ตตามภาวะตลาด
ต่อเนื่องจากเรื่องของกำไรกับราคาหุ้นก็คือ เราควรทำใจให้ได้ว่า การลงทุนซื้อหุ้นในตลาดนั้นก็คือการลงทุนในธุรกิจ เราซื้อหุ้นก็คือการซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะมีค่ามากขึ้นมากมายในเวลาไม่กี่วัน เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะมีค่าตกต่ำลงมากมายในชั่วข้ามคืน ดังนั้น การซื้อหรือขายธุรกิจโดยอิงกับความผันผวนของราคาหุ้นในช่วงสั้น ๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล
การทำใจเรื่องที่เก้าก็คือ การทำใจไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นที่ดูเหมือนจะสามารถทำกำไรได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น แต่หุ้นนั้นพิจารณาจากพื้นฐานแล้วไม่มีความคุ้มค่าที่จะซื้อเลย นี่ก็คือหุ้นที่อาจจะกำลังมี “ข่าวดี” หรือกำลังจะมี “คนเล่น” หรืออะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อดใจได้ยาก แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าที่จะทำ บางครั้งเราอาจจะได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่มันจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดของพอร์ตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าเราทำบ่อย ๆ เราจะ “หลงทาง” และหลุดจากเป้าหมายหลักของการสร้างพอร์ตในระยะยาว
สุดท้ายแต่ไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่จะต้องทำใจก็คือ เมื่อเราประสบความสำเร็จในการลงทุนมา 2-3 ปี ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเราจะชนะต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยวิธีการลงทุนที่ทำอยู่ เรามีโอกาสที่จะประสบกับความเลวร้ายเสมอและวันหนึ่งเราก็จะเจอ อย่าเชื่อว่าวิธีการที่ทำอยู่จะถูกต้องจนกว่าคุณจะใช้มาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีขึ้นไปและมันสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจมาอย่างสม่ำเสมอ
คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI


อ่านต่อ...

กำแพงแห่งความกังวล

นักวิเคราะห์และนักลงทุนบางคนมองว่าภาวะแวดล้อมของประเทศไทย ณ. วันนี้ดูไม่ดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเลย ดังนั้นหลาย ๆ คนขายหุ้นล้างพอร์ต นั่งรอให้ตลาดหุ้นตกลงมาต่ำกว่าปัจจุบันก่อนที่จะเข้าลงทุนอีกครั้ง เหตุผลก็เพราะว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นนั้นล้วนแต่เป็นภาพลบและเป็นปัจจัยที่อาจทำให้หุ้นตกได้มหาศาล
เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้ซึ่งรุนแรงขึ้นมาต่อเนื่องและยังไม่เห็นทางแก้ไขที่ได้ผลจริง ๆ เท่าที่ผ่านมานั้น ปัญหานี้ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งเกือบทุกวัน แต่ถ้าถามว่ากระทบอะไรกับเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมากน้อยแค่ไหน คำตอบก็คือ น้อยมาก เพราะสัดส่วนของผลผลิตใน 3 จังหวัดนั้นมีน้อยเมื่อเทียบกับผลผลิตรวมของประเทศ เพราะฉะนั้น ว่าโดยพื้นฐานแล้ว ปัญหาภาคใต้ยังไม่ได้ส่งผลถึงเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นเลย


แต่ความกังวลก็คือ โอกาสที่ปัญหาการก่อการร้ายจะลุกลามไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ โดยเฉพาะที่เป็นเมืองท่องเที่ยวนอกเขต 3 จังหวัดนั้นน่าจะมีอยู่ และถ้าเกิดขึ้นก็จะกระทบต่อภาพของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง การท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลของไทยจะเสียหายหนัก การลงทุนต่าง ๆ จะชะลอตัวลง ตลาดหุ้นอาจจะช็อค ดัชนีตลาดไหลลง เพราะนักลงทุนทั้งไทยและเทศอาจเทขายหุ้นด้วยความตกใจ ภาพแบบนี้สำหรับบางคนแค่คิดก็นอนไม่หลับแล้ว

ถัดจากเรื่องภาคใต้ก็มาถึงเรื่องที่น่ากลัวไม่แพ้กันเพราะเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็คือ ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการขนส่งซึ่งก็เป็นต้นทุนของสินค้าเกือบทุกอย่างในประเทศ กำลังจะต้องถูกปรับราคาขึ้นมาหลายสิบเปอร์เซ็นต์หลังจากที่ถูก “อั้น” ไว้นาน

การปรับราคาน้ำมันดีเซลน่าจะมีผลให้สินค้าอีกหลายชนิดปรับตัวขึ้นและจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การบริโภคของประชาชนถดถอยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และที่สำคัญ ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ขายสินค้าได้น้อยลงและกำไรหดลง ทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างรุนแรงและยาวนาน

อัตราดอกเบี้ยที่เคยต่ำเตี้ยติดดินก็กำลังทยอยปรับขึ้นทีละ 0.25% ตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาและดูเหมือนว่าจะยังไม่หยุดเพราะสภาพคล่องทางการเงินดูเหมือนว่าจะลดลงในขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้น นี่ก็คือความกังวลที่รุนแรงอีกข้อหนึ่งโดยเฉพาะในสังคมไทยที่นับวันจะพึ่งพิงกับการซื้อสินค้าเงินผ่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรื่องของไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นมาเกือบปีและยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างเด็ดขาดนั้น ขณะนี้ก็เริ่มมีความกังวลว่าจะหวนกลับมาพร้อมกับฤดูที่อากาศเย็นลง และแม้ว่าคนจะเริ่มชินชากับปัญหานี้ ปัญหาไข้หวัดนกก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายได้เสมอโดยเฉพาะถ้ามีการกลายพันธุ์และติดต่อถึงคนได้ง่ายขึ้น

ข่าวร้ายนั้นดูเหมือนว่าเวลาเกิดขึ้นมักจะมาเป็นชุด ๆ เพราะเรื่องที่น่าห่วงกว่าหวัดนกในขณะนี้ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ จังหวัด ข่าวที่ออกมาฟังดูอาจจะไม่ตื่นเต้นเพราะไม่มีคนเสียชีวิตจากภัยแล้ง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นน่าจะรุนแรงกว่า เพราะผลผลิตทางการเกษตรเกือบทุกอย่างจะถูกกระทบ รายได้ของคนในชนบทซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญจะถดถอยลงและนี่อาจทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าซบเซากว่าที่ใครต่อใครคาดไว้ได้

ปัจจัยจากต่างประเทศเองก็มีเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย ที่มองดูก็มีเรื่องเศรษฐกิจของจีนซึ่งอาจชะลอตัวลงซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าหลาย ๆ อย่างโดยเฉพาะที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบลดลง

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะอยู่ที่ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งหลายที่ได้ปรับตัวขึ้นมหาศาลเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นมหาศาลของจีนในช่วงที่ผ่านมา อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความต้องการปิโตรเคมีชะลอตัวลงและราคาร่วงลงมา?

คำตอบนั้นชัดเจนก็คือ บริษัทจดทะเบียนที่ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะมีกำไรถดถอยลงและราคาหุ้นน่าจะต้องปรับตัวลง เรื่องนี้คงไม่หนักหนามากถ้ามีบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กเพียงไม่กี่แห่งที่หากินกับปิโตรเคมีอย่างในอดีต แต่ความเป็นจริงก็คือ ตลาดหุ้นไทยเวลานี้มีบริษัทที่อิงอยู่กับธุรกิจปิโตรเคมีคิดตามมูลค่าหุ้นแล้วสูงมาก บางคนบอกว่าสูงถึงเกือบ 30% ของตลาดหุ้นทั้งหมด

ผมเองไม่ยืนยันตัวเลขนี้ แต่ลองนั่งนึกว่าหุ้น ปตท. ซึ่งมีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดประมาณ 470,000 ล้านบาทนี่คงเกี่ยวข้องกับปิโตรเคมีแม้ว่าจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มพลังงาน เช่นเดียวกับหุ้นปูนซิเมนต์ไทยซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 280,000 ล้านบาท รวมกับหุ้น TPI ประมาณ 56,000 ล้านบาท บวกกับหุ้นในกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติคซึ่งส่วนใหญ่ก็คือปิโตรเคมีอีกประมาณ 190,000 ล้านบาท รวมแล้วมีมูลค่าตลาดประมาณ 1 ล้านล้านบาท เทียบกับมูลค่าหุ้นทั้งตลาดที่ประมาณ 4.4 ล้านล้านบาทคิดเป็นประมาณ 23% แต่ถ้ารวมเอาธุรกิจที่เกี่ยวกับน้ำมันและเหล็กซึ่งมีคุณสมบัติและพฤติกรรมของราคาสินค้าคล้าย ๆ กันเข้าไปด้วยแล้ว ผมคิดว่าตัวเลข 30% นั้นไม่เกินความจริง

ฟังแล้วรู้สึกหนาวไหมครับว่า ตลาดหุ้นไทย ณ. วันนี้มีเรื่องต่าง ๆ ที่น่าวิตกกังวลเต็มไปหมด แล้วตลาดหุ้นจะไปได้อย่างไรสำหรับปีหน้า?

คำตอบของผมก็คือ อย่ากลัวจนทิ้งตลาดหุ้นครับ เพราะสุภาษิตที่โด่งดังในวงการหุ้นก็คือ หุ้นนั้น “ปีนกำแพงแห่งความกังวล” ความหมายก็คือ ถ้าคนยังวิตกกังวลอยู่หุ้นจะขึ้นไปได้ เมื่อใดที่คนลงทุนในหุ้นอย่าง “ไร้กังวล” อย่างที่เกิดขึ้นปลายปีที่แล้ว เมื่อนั้นหุ้นจะน่ากลัวที่สุดจริง ๆ
คัดลอกมาจากหมวดบทความในเวปThaiVI

อ่านต่อ...